เตือนภัยแล้ง! ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ยกระดับเพิ่มขึ้นอีกจากเดือนที่แล้ว ฝนคาดว่าจะมาช้ากว่าปกติ

Spread the love

เตือนภัยแล้ง! ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ยกระดับเพิ่มขึ้นอีกจากเดือนที่แล้ว ฝนคาดว่าจะมาช้ากว่าปกติ และปริมาณน้ำฝนปีนี้อาจจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย หากแล้งต่อเนื่องถึงปีหน้าอาจส่งกระทบในวงกว้าง #elnino#drought#warning
ล่าสุดข้อมูลการพยากรณ์ความน่าจะเป็นที่จะเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญได้เพิ่มขึ้นอีกจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพิ่มมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

ภาพที่ 1 (บน) แสดงการเปลี่ยนแปลงของความน่าจะเป็นของเอลนีโญจากเดือนมีนาคมสู่เดือนเมษายนซึ่งพบว่ามีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเดือนเมษายน มีความน่าจะเป็นสูงถึง 94% เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมถึง 14% ขณะที่เดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ความน่าจะเป็นยังอยู่ในระดับสูงถึง 85% และ 74% ตามลำดับ ทำให้บ่งชี้ว่าฝนอาจจะมาช้าล่าไปถึงเดือนมิถุนายน นอกจากนั้นค่าดัชนี ONI (ภาพที่ 1 ล่าง) มีลักษณะก่อตัวคล้ายกับมหาภัยแล้งในปี 2558 (สีแดงบ่งชี้ปรากฏการณ์เอลนีโญ สีน้ำเงินลานีญา) นั่นหมายความว่าเราอาจจะเจอภัยแล้งยืดเยื้อข้ามปี คงต้องจับตาดูให้ดีเพราะการคาดการณ์ช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. มักจะมีความคลาดเคลื่อนสูงกว่าเดือนอื่นๆ

ภาพที่ 3 บ่งชี้เพิ่มเติมว่าปีนี้ โอกาสเกิดปรากฏการณ์ “ลานีญา” น้อยมาก ขณะที่ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” แบบอ่อนๆ ยืดเยื้อ ซึ่งมีนัยยะว่า น้ำฝนปีนี้อาจมีน้อยกว่าปกติ คงต้องหาทางกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ดีเลยครับ
ส่วนภาพที่ 4 แสดงดัชนี SPEI ซึ่งชี้ให้เห็นถึงพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งตามระดับความรุนแรงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (แดงเข้ม=แล้งจัด, น้ำเงินเข้ม=น้ำมาก) ซึ่งภาคอีสานน่าห่วงที่สุด เพราะมีพื้นที่ในเขตชลประทานน้อยมาก แถมปริมาณน้ำในเขื่อนของภาคเหนือก็อยู่ในระดับต่ำ แล้งนี้อาจจะยังเสียหายไม่มาก แต่ถ้าแล้งต่อเนื่องถึงปีหน้า คงจะเสียหายในวงกว้าง

รู้ก่อนเตรียมรับมือก่อน ความเสียหายจะได้ไม่สูงมาก ต้องหาทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกันยาวๆ อย่างยั่งยืนนะครับ เราคงเจอปัญหานี้กันถี่ขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนครับ

โดย : รศ. ดร. วิษณุ อรรถวาณิชย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์