ลูกขุนศาลสหรัฐฯ ชี้ ยาฆ่าหญ้า “ราวด์อัพ” ซึ่งมีส่วนผสมของไกลโฟเซต มี “ส่วนสำคัญ” ที่ทำให้ชายคนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง

Spread the love

คณะลูกขุนแห่งศาลนครซานฟรานซิสโก มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าผลิตภัณฑ์กำจัดวัชพืช “ราวด์อัพ” ซึ่งมีส่วนผสมของไกลโฟเซต มี “ส่วนสำคัญ” ที่ทำให้ชายคนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง

สารเคมีกำจัดวัชพืช “ราวด์อัพ” หรือที่รู้จักในฐานะเป็นยาฆ่าหญ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกษตรกรในหลายประเทศนิยมใช้ รวมทั้งในไทย การชี้ขาดของคณะลูกขุนในครั้งนี้ เป็นคดีที่สองจากการฟ้องร้องคดีที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ราวด์อัพในสหรัฐฯ ประมาณ 11,200 คดี

บริษัทเวชภัณฑ์ไบเออร์ (Bayer) ปฏิเสธข้อกล่าวอ้างที่ว่าราวด์อัพเป็นสารก่อมะเร็ง แต่คณะลูกขุนชี้อย่างเป็นเอกฉันท์ว่าสารเคมีกำจัดวัชพืชดังกล่าวมีส่วนทำให้นายเอ็ดวิน ฮาร์ดีแมน ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

นายฮาร์ดีแมน วัย 70 ปี ใช้สารกำจัดวัชพืชดังกล่าวเป็นประจำในช่วงปี 1980-2012 และได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma)

คดีของเขาถือเป็นคดีที่สองจากการฟ้องร้องคดีที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ราวด์อัพในสหรัฐฯ ประมาณ 11,200 คดี โดยการพิจารณาคดีต่อจากนี้จะเป็นเรื่องความเสียหายและการรับผิดของไบเออร์

ก่อนหน้านี้ คณะลูกขุนแห่งศาลนครซานฟรานซิสโก มีมติเป็นเอกฉันท์เช่นกันว่าบริษัทมอนซานโต้ ผู้ประกอบธุรกิจด้านเคมีเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรรายใหญ่ของโลก มีความผิด เนื่องจากไม่แสดงคำเตือนอย่างเพียงพอว่าสารไกลโฟเซตซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในยาปราบศัตรูพืช “ราวด์อัพ” (RoundUp) และ “แรงเจอร์โปร” (RangerPro) อาจก่อให้เกิดมะเร็งกับผู้ใช้

 

คณะลูกขุนมีคำวินิจฉัยว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของมอนซานโต้ “มีส่วนสำคัญ” ที่ทำให้โจทก์ คือ นายดีเวย์น จอห์นสัน ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จากการที่เขาใช้ผลิตภัณฑ์แรงเจอร์โปร เป็นประจำในการทำงานเป็นคนสวนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย และได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน เมื่อปี 2014 คณะลูกขุนมีคำสั่งให้บริษัทมอนซานโต้เจ้าของผลิตภัณฑ์ จ่ายค่าเสียหายมูลค่า 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 9,500 ล้านบาท)

ไบเออร์ เป็นบริษัทของเยอรมนีที่เข้าครอบครองกิจการรวมถึงผลิตภัณฑ์ราวด์อัพของมอนซานโตซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่ง ไบเออร์ระบุว่าผิดหวังกับการตัดสินใจเบื้องต้นของคณะลูกขุน และ “มั่นใจว่าหลักฐานที่จะนำเสนอในการพิจารณาคดีระยะที่ 2 จะแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการของมอนซานโตเป็นไปอย่างถูกต้อง และบริษัทไม่ควรรับผิดทางกฎหมายในเรื่องที่นายฮาร์ดีแมนเป็นมะเร็ง”

ไบเออร์ยัง “เชื่อมั่นในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่าสารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโซเฟตเป็นส่วนผสมหลักไม่ได้เป็นต้นเหตุทำให้เกิดมะเร็ง”

อย่างไรก็ดี การพิจารณาคดีล่าสุดซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในวันพุธ คาดว่าทนายความของนายฮาร์ดีแมนจะนำเสนอหลักฐานที่ชี้ให้เห็นความพยายามของไบเออร์ในการเข้าไปแทรกแซงบรรดานักวิทยาศาสตร์ ผู้ตรวจสอบ และสาธารณชน ในเรื่องความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ของตน

ที่มา : BBCTHAI