
“ขอไว้อาลัยต่อการจากไปของราชสีห์อีสาน ผู้บุกเบิกงานพัฒนาในพื้นที่อีสานเมื่อ 5 ทศวรรษก่อน ผู้เปิดโลกให้นักพัฒนารุ่นหลังได้หันมาใส่ใจแดนอีสานและเข้ามาช่วยให้คนอีสานหลายพื้นที่ได้รู้จักสิทธิของตนเอง ครั้งหนึ่งเคยได้เรียนรู้ รับฟัง และกล่อมเกลาจากลุงเปี๊ยกอันเป็นที่รักของพี่น้องลูกหลานทุกคน”
ชีวประวัติโดยสังเขป “บำรุง บุญปัญญา”
นายบำรุง บุญปัญญา เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2488 ภูมิลำเนาบ้านหนองผำ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 คณะกสิกรรมและสัตวบาล (กสบ.) สาขาปฐพีวิทยา ซึ่งนายบำรุง บุญปัญญา ถือเป็นนักคิด นักปฏิบัติระดับแนวหน้าของประเทศไทย เป็นผู้เสนอแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน อันเป็นแนวคิดที่ทรงพลังในการพัฒนาท้องถิ่น สร้างเสริมศักยภาพของชุมชนคนอีสาน
นอกจากนักพัฒนาองค์กรเอกชนที่นำแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนไปปฏิบัติการในพื้นที่แล้ว แนวคิดนี้ยังส่งผลต่อนักวิชาการไทยด้วย โดยเฉพาะสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง โดยได้ทำการวิจัยเพิ่มความชัดเจนของแนวคิดนี้ในมิติต่างๆ จนกระทั่งพัฒนาเป็นข้อเสนอทางยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับชาติ แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนจึงเป็นแนวคิดหลักในการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนไทยมาจนถึงปัจจุบัน และอาจรวมถึงหน่วยงานภาครัฐบางหน่วยงานอื่นๆด้วย นอกจากการเป็นนักคิดและนักปฏิบัติที่มุ่งมั่นจริงจังแล้ว
“บำรุง บุญปัญญา” ยังเป็นนักเขียนบทความซึ่งตีพิมพ์ประจำในวารสารสังคมพัฒนาและวารสารชุมชนพัฒนา เช่น ศรัทธาพลังชุมชน, มองโลกมองสังคม ก้าวต่อไปของประชาชน, ไปให้พ้นสังคมกำพร้า, จับปลาต้องลงน้ำ และเขียนแผ่นดิน นอกจากนั้นยังเป็นกวีที่ลุ่มลึกในเนื้อหาที่มีทั้งเดือดข้น โอนอ่อน ผ่านนามปากาที่ใช้ชื่อว่า ปทุม อุทุมพร รักษ์ แผ่นดิน ราชสีห์ที่ราบสูง ผลงาน เช่น เพราะสายรกกูฝังอยู่ที่นี่, สู่ชีวิตที่ดีร่วมกัน, คืนดิน, เทวศาสตร์ไทอีสานเพื่อการปลดปล่อย และ 3 ทศวรรษแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน นายบำรุง ยังคงคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับสังคมอย่างมิเคยเหน็ดเหนื่อย ทั้งยังได้ลงแรงทุ่มเทให้กับการศึกษาแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน และเคลื่อนไหวปฏิบัติงานพัฒนาในหมู่บ้านมาอย่างต่อเนื่องจริงจัง




นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาของนักพัฒนาและผู้นำชุมชน ยังคงคิดค้นงานเรื่องวัฒนธรรมชุมชน และทางเลือกเพื่อการพึ่งตนเองของภาคประชาชนและชุมชน รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าแนวคิดด้านนิเวศวัฒนธรรม สืบเนื่องขยายผลมาโดยตลอด ด้วยความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ผลงาน และความเพียรพยายามในการพัฒนาชุมชน ด้วยระบบวัฒนธรรมตลอดทั้งการอุทิศตนในการช่วยเหลือและสร้างสรรค์สังคม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจากเกียรติคุณและความมานะพยายามที่เป็นนักพัฒนา นักคิด นักเขียน เพื่อให้ชุมชนและประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นร่วมกัน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน “นายบำรุง บุญปัญญา” ได้รับการยกย่องให้ได้รับรางวัลมากมาย ล่าสุดได้รับรางวัลนราธิป เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา
ผลงาน “บำรุง บุญปัญญา”
รางวัลนราธิปเป็นรางวัลเกียรติคุณที่มอบให้กับนักเขียนและบรรณาธิการอาวุโส โดยมีหลักเกณฑ์ที่จะมอบรางวัลให้กับผู้ซึ่งมีอายุมากกว่า 80 ปี มีผลงานเป็นที่ยกย่องกว้างขวาง จัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2544 รางวัลนราธิป เกิดขึ้นจากแนวคิดของ ประภัสสร เสวิกุล ซึ่งเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยชื่อรางวัล นำมาจากพระนามของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เนื่องจากในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งมีพิธีมอบรางวัลนี้เป็นปีแรก เป็นปีครบรอบ 110 ปี ชาตกาล และครบรอบ 10 ปี ที่ท่านได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญระดับโลก