สุรินทร์พร้อมหรือยังที่จะปิดเมือง ก่อนถึงจุดนั้นเรามาอ่านประสบการณ์จากเมืองอิตาลี่กันก่อน

Spread the love

‘ออกนอกบ้านได้ครั้งละคน-ซื้อเสบียงยืนห่างกัน 1 เมตร’ เรื่องเล่า’อิตาลี’วันปิดเมืองสกัด’โควิด’

วันที่ 16 มีนาคม 2563 ต้องบอกว่าเป็น “เรื่องใหญ่” กับกระแสข่าวว่ารัฐบาลไทยอาจงัด “ยาแรง” สกัดการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 นั่นคือการ “ปิดพื้นที่เสี่ยง” ตั้งแต่สถานบันเทิง สนามกีฬา ไปถึงขั้นสูงสุดอย่าง “ปิดเมือง” สืบเนื่องจากเดิมทีเศรษฐกิจไทยซบเซามาก่อนแล้ว พอเจอโรคระบาดช่วงแรกๆ นักท่องเที่ยวต่างชาติก็หายไป หากต้องยกระดับขึ้นอีกก็อาจเท่ากับ “ตอกฝาโลง” กิจการถึงขั้นเจ๊งระนาวและคนจะตกงานกันเป็นเบือ แต่ในทางกลับกันก็ต้องยอมรับว่าไม่มีวิธีใดสกัดโรคระบาดได้ดีกว่าการตัดการรวมตัวของผู้คน

ตำรวจอิตาลีเข้มงวดในการจำกัดการเดินทางของประชาชน
ที่มา : CNN

จากเมืองไทยเหลียวมองไปต่างแดน อิตาลี เป็นประเทศที่สถานการณ์การระบาดรุนแรงถึงขีดสุดหากไม่นับต้นทางการระบาดอย่างประเทศจีน กระทั่งรัฐบาลแดนมะกะโรนีต้องใช้ยาแรงถึงขั้นปิดประเทศตั้งแต่เมื่อ 11 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งสื่อต่างประเทศหลายสำนักได้เป็นช่องทางให้ผู้คนที่นั่นถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตในสถานการณ์เลวร้ายครั้งหนึ่งในห้วงประวัติสาสตร์ของโลกหนนี้

อาทิ สำนักข่าว CNN สหรัฐอเมริกา เสนอข่าว “An American woman in Italy has advice for life under countrywide quarantine: Follow the rules” เมื่อ 14 มี.ค. 2563 ว่าด้วยชีวิตของ คริสตินา ฮิกกินส์ (Cristina Higgins) หญิงชาวอเมริกันที่อยู่กับครอบครัวในเมืองแบร์กาโม (Bergamo) ใกล้กับเมืองใหญ่ของอิตาลีอย่างมิลาน โดยแม้ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายยายังเปิดทำการ แต่ใน 1 ครัวเรือน จะมีสมาชิกได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านไปซื้อสิ่งของที่จำเป็นเพียงคนเดียวเท่านั้นโดยมีตำรวจเป็นผู้ออกหนังสืออนุญาต และผู้คนต้องอยู่ห่างกัน 1 เมตร

โดยตลอดทั้งวันผู้คนจะได้ยินแต่ข่าวร้ายจากเพื่อนๆ แต่ตนก็ขอให้ทุกคนที่อยู่ภายใต้มาตรการนี้ปฏิบัติตามและเชื่อว่าจะผ่านจากช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ได้เร็ว ขณะที่ผู้คนจุดเทียนไว้ริมหน้าต่างเป็นกำลังใจให้คนที่ยังเผชิญความเสี่ยง อาทิ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการฉุกเฉินและเภสัชกร เด็กๆ ทำป้ายที่มีข้อความ “เราจะเอาชนะสิ่งนี้ไปด้วยกัน” สุดท้ายตนหวังว่าอีก 10 วันสถานการณ์น่าจะดีขึ้น

เว็บไซต์ นสพ.The Washington Post สหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทความ “The surreal reality of life in shuttered Rome during Italy’s lockdown” ซึ่งเขียนโดย แอนโทเนีย-วิลเลียมส์-อันนันเซียตา (Antonia Williams-Annunziata) ผู้สื่อข่าวอิสระที่พักอาศัยในกรุงโรม เมืองหลวงของอิตาลี เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2563 เล่าว่า ตนเดินทางมาอิตาลีในวันที่ 29 ก.พ. 2563 บรรยากาศยังเป็นปกติ ผู้คนสวมหน้ากากที่ใบหน้า ร้านค้า พิพิธภัณฑ์ ร้านกาแฟและสถานบันเทิงต่างๆ ยังคงเปิดทำการตลอดวันไปจนถึงช่วงกลางคืน

แต่เมื่อยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอิตาลีพุ่งถึงหลักพันทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เริ่มมีการจำกัดการเดินทางระหว่างเมือง กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้ต้องกรอกเอกสารอธิบายความจำเป็นไม่ว่าเรื่องการทำงาน เหตุผลด้านสุขภาพหรือการเดินทางกลับบ้าน ตำรวจตั้งคำถามกับนักท่องเที่ยว กรุงโรมตกอยู่ในความเงียบงัน ไม่พบนักท่องเที่ยวตามโบราณสถานสำคัญของเมือง ร้านกาแฟที่ยังเปิดทำการมีจำนวนน้อย แต่เด็กๆ ก็ยังไปห้างสรรพสินค้า

กระทั่งในวันพุธที่ 11 มี.ค. 2563 รัฐบาลอิตาลียกระดับสู่การปิดเมืองอย่างสมบูรณ์ ร้านค้า พิพิธภัณฑ์และสถานที่อื่นๆ ที่มักผู้คนไปรวมตัวกันถูกสั่งปิด เว้นแต่ร้านขายยาและอาหารเท่านั้น วันที่ 12 มี.ค. 2563 ตนไปที่ร้านขายเนื้อสัตว์แต่ต้องรอจนลูกค้าคนก่อนหน้าซื้อสินค้าเสร็จจึงจะเข้าไปได้ เช่นเดียวกับร้านขายยาที่มีคำสั่งให้ลูกค้ายืนห่างกัน 3 ฟุต หรือเกือบ 1 เมตร เพื่อให้ได้ระยะห่างที่ปลอดภัย

พนักงานส่งอาหารมองดูสภาพกรุงโรมที่กลายเป็นเมืองร้าง
ที่มา : The Washington Post

“ฉันผ่านโบสถ์ที่ถูกปิด ไม่มีการรวมกลุ่มของศาสนิกชน นี่คือเหตุการณ์ประหลาดในเมืองที่เต็มไปด้วยศาสนสถาน มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ก็ปิด ชีวิตยามค่ำคืนมอดดับ ไม่ต่างกับความสุขยามเช้าของผู้คนที่มักจะออกไปจิบกาแฟตามร้านค้าริมทาง ผู้คนกระหน่ำส่งข้อความมาถามฉันว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ฉันก็บอกว่ามันไม่ได้น่ากลัวเท่ากับมาตรการปิดเมืองในจีน อย่างน้อยก็ไม่มีการบุกบ้าน คุมขังหรืออุ้มหายกรณีผู้สื่อข่าวรายงานสิ่งที่ไม่ได้รับอนุญาต ถึงกระนั้นความจริงที่นี่ก็ยังดูเหนือจริงอยู่ดี” อันนันเซียตา กล่าว

“เราจะผ่านมันไปด้วยกัน” ชาวกรุงโรมเปิดไฟแฟลชโทรศัพท์มือถือ แสดงสัญลักษณ์ให้กำลังใจกันและกันในช่วงเวลาวิกฤติ

เช่นเดียวกับเว็บไซต์ นสพ.Gulf News เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เผยแพร่บทความ “Life in Italian coronavirus lockdown: Insider’s view” ในวันที่ 16 มี.ค. 2563 บอกเล่าเรื่องราวของชาวอิตาเลียนในสถานการณ์ปิดเมือง โดยแต่ประชาชนยังได้รับอนุญาตให้ไปซูเปอร์มาร์เก็ต จูงสุนัขไปเดินเล่นหรือไปวิ่งออกกำลังกาย แต่ต้องไปเพียงคนเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ยังไปทำงานได้กรณีที่ไม่สามารถทำงานที่บ้าน ร้านค้าจะให้คนเข้าไปภายในได้เพียงจำนวนน้อย แต่คนอื่นๆ ก็รออย่างอดทนอยู่ที่ถนนด้านนอก

การออกจากบ้านต้องพยายามรักษาระยะห่าง 1 เมตรกับคนอื่นๆ ทุกครั้ง และต้องมีเหตุผลเพียงพอไม่เช่นนั้นจะถูกปรับ ผู้คนไม่ได้รับอนุญาตให้ไปพบญาติสนิทมิตรสหายหรือออกจากท้องถิ่นที่อยู่เดิม การปิดกั้นนี้เพื่อต้องการสกัดการระบาดของไวรัสและลดความแออัดในโรงพยาบาลทางตอนเหนือของประเทศ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคน ทุกเมืองและทุกภูมิภาคของประเทศเต็มไปด้วยโรคระบาด

บทความนี้ซึ่งเขียนโดย ลอเรน โมอาท (Lauren Mouat) เล่าต่อไปว่า ดูเหมือนผู้คนที่นี่จะเข้าใจความจำเป็นของมาตรการที่ออกมาเพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่าที่เป็นอยู่ มันเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นผู้คนละวางความคิดเห็นทางการเมืองหรือความต้องการส่วนตัว โดยต่างก็ให้ความร่วมมือเพื่อให้มาตรการใช้งานได้จริง สิ่งที่ตนได้เห็นวันนี้คือความสามัคคี ความเมตตาและเห็นอกเห็นใจในแววตาของผู้คน ไม่ใช่ความหวาดกลัวแต่อย่างใด

“เราจะผ่านมันไปด้วยกัน” ชาวกรุงโรมเปิดไฟแฟลชโทรศัพท์มือถือ แสดงสัญลักษณ์ให้กำลังใจกันและกันในช่วงเวลาวิกฤติ”

สำหรับช่วงเวลายามค่ำคืน ผู้คนนำโทรศัพท์มือถือมาเปิดไฟแฟลชริมระเบียงจนสว่างไสว เป็นการแสดงสัญลักษณ์ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ริมระเบียงของบ้านริมถนนหลายหลังมีการเล่นดนตรีเพื่อให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ตนโบกมือให้กับเพื่อนบ้าน การเสียสละทั้งหมดนี้ตนเชื่อว่าจะทำให้เราผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน และไม่ใช่เฉพาะอิตาลีแต่เป็นโลกทั้งใบ

อ่านบทความเต็มได้ที่นี่

https://edition.cnn.com/2020/03/13/europe/italy-american-woman-life-under-quarantine/index.html

https://www.washingtonpost.com/opinions/2020/03/12/surreal-reality-life-shuttered-rome-during-italys-lockdown/

https://gulfnews.com/world/europe/life-in-italian-coronavirus-lockdown-insiders-view-1.1584339953220