กอ.รมน.ภาค 2 ใช้ “กลไก จิตอาสาฯ 904 วปร.” ร่วมแก้ไขปัญหาภัยแล้งสุรินทร์..เร่งด่วนที่สุด

Spread the love

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา – พันเอกณัฎฐ์ ศรีอินทร์ รอง ผบ.พล.ร.6/รอง ผอ.รมน.ภาค 2 ส่วนแยก 2 ในฐานะจิตอาสา 904 อำนวยการการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ที่ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง และอ่างเก็บน้ำอำปึล ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ เหือดแห้ง ปริมาณน้ำเหลือเพียง 5% ของอ่างน้ำที่เหลือสามารถผลิตน้ำประปาได้ อีกเพียงเดือนเศษ เท่านั้นทหากไม่มีน้ำฝนตกลงมาเติมน้ำจะทำให้เมืองสุรินทร์ไม่มีน้ำประปาใช้ ส่งผลให้ ประชาชนต่างตื่นตระหนกกับสถานการณ์น้ำแล้ง จนได้รวมตัวกันกว่า 1,000 คนในชื่อ “ชาวสุรินทร์รวมใจ กู้วิกฤติภัยแล้ง” เดินทางไปที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง เพื่อรวมพลังกันใช้เครื่องมือเท่าที่มีอยู่ช่วยกันขุดลอกอ่างให้มีพื้นที่เก็บกักน้ำให้มากขึ้น
โดยมีการรับทราบปัญหาและร่วมแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน โดยได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย จังหวัดสุรินทร์, สำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา, ชลประทานสุรินทร์, การประปาส่วนภูมิภาคเขต 8 อุบลราชธานี, การประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุรินทร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ


หลังจากนั้นได้พบปะชี้แจงให้ประชาชนที่เดินทางมาที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนงทราบ แล้วจัดการประชุมหารือกับผู้แทนภาคประชาชน เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว


เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมได้เข้าตรวจพื้นที่และวางแผนการส่งน้ำจากแหล่งน้ำสำรองเติมเข้ามายังอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง แล้วได้ชี้แจงให้ประชาชนทราบในเวทีประชาชน ซึ่งมีการถ่ายทอดผ่านสถานีวิทยุและเคเบิ้ลทีวีในจังหวัดสุรินทร์ ทำให้ประชาชนคลายความกังวลและเข้าใจแนวทางการแก้ไขปัญหา


การแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน จากการที่น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง และอ่างอำปึล ใช้ผลิตน้ำประปาได้เพียงเดือนเศษ ได้วางแผนการเติมน้ำจากอ่างเหมืองหินที่มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ประมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. ระยะทาง 12 กม. เป็น 3 ห้วงคือ

– ห้วงที่ 1 ระยะ 3 กม. ใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ของกรมชลประทานสูบน้ำจากอ่าง ลงลำเลียงโดยคลองธรรมชาติ

– ห้วงที่ 2 ระยะ 3 กม. ใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ของกรมชลประทานสูบน้ำจากคลองธรรมชาติลำเลียงผ่านท่อ (งบประมาณจัดหาท่อโดยการประปาส่วนภูมิภาค)

– ห้วงที่ 3 ระยะทาง 6 กม. ปล่อยน้ำจากท่อลงคลองธรรมชาติลำเลียงลงอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง

การดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและวางท่อจะให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน เพื่อให้สามารถเติมน้ำลงอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงได้ก่อนน้ำในอ่างจะหมด

สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว สำนักงานชลประทานที่ 8 จะเสนอโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง และอ่างอำปึล ให้สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างน้อย 35 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญด้วย