จังหวัดในฝัน…. มโนภาพสุรินทร์ ในนิยามโลกเก่า

Spread the love

ยอมรับมาตลอดว่า ทัศนะที่ผมมีต่อบ้านเกิดเมืองนอนนั้น ค่อนข้างติดลบอันมาจากความคาดหวัง ในความทั่วถึงทั้งทรัพยากร โอกาส และทุน เพราะผมเชื่อมาตลอดว่า คุณค่าในความใฝ่ฝันคนเรานั้นเสมอภาคกัน และเราไม่ได้เฝ้ารอนอนรอการหยิบยื่นถ่ายเดียว แต่เราดิ้นรนสุดกำลังแรงกายและสติปัญญา หากแต่ ทำไมความเอื้ออำนวยจากกลไกที่เกี่ยวข้อง ที่ควรจะเห็น จะมี จึงเงียบงัน….

ผมพยายามหาคำอธิบายกับตัวเอง ว่า ทำไมสิ่งที่ผมพยายามพูดถึงไม่ถูกเห็น หรือ พนมดงรักไม่ถูกเห็น ทำไมแนวทางดีๆ โครงการพัฒนาที่น่าสนใจ ดูสอดคล้องกับบริบท บ้านเมือง สังคม หรือ กระแสโลก จึงไม่ถูกผลักดัน การพัฒนาสินค้ามีลู่ทางตลาด การผลักดันผลิตภัณฑ์ใหม่ การสร้างตลาด การสนับสนุนทุน การใช้กลไกราชการเข้ามาเอื้ออำนวย และการใช้นโยบายตอบสนองทิศทาง โอกาส กับเกษตรกร กับประชาชน

ทุกครั้งที่ได้ออกไปเยือนบ้านเมืองคนอื่น บุรีรัมย์ที่เราเคยเยาะเย้ย ศรีสะเกษที่เราเคยสงสาร ร้อยเอ็ดที่แสนแร้นแค้น นั่นคือภาพเมื่อ 30 ปีก่อนโน้น วันนี้กลับตรงข้าม บ้านเมืองที่เอ่ยมาก้าวไปไกลกว่าสุรินทร์หลายสิบปี สุรินทร์ที่ผมเรียกว่า บ้าน ดูอ้างว้าง เฉื่อย เนือย และแยกตัว แปลกแยก

เราอยู่ติดประตูการค้า เรามีถนนเชื่อมอาเซียน เรามีเกษตรกรที่เก่ง ชำนาญการ เราชูอินทรีย์ เราผลิตโคขุน เรามีปราสาท วัฒนธรรม ที่งดงาม เราเป็นมิตรกับคนแปลกหน้า เรามีวิถีที่รักความครื้นเครง ดื่มกินเต้นรำ แต่เรากลับหา “ตัวตนใหม่” เพื่อจะยืนบนกระแสโลกที่การค้าการท่องเที่ยวคือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ได้ ไม่เจอ เราจมปลักกับอะไร ?

ผมมักเอ่ย (เอาขำๆ) ว่า De Simone จะต้องอยู่ในจินตนาการใหม่ในภาพความเป็นสุรินทร์ ผมเอ่ยขำๆ แต่ในใจคิดจริงจัง ว่า ประชาชนคนใดก็ได้ ที่ คิดและทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ในสุรินทร์ ก็มีโอกาสขยับตัวเองไปหาความเจริญ เช่นบ้านอื่นเมืองอื่น

ที่ผมเริ่มจากการเอ่ยขำๆ ก็เพราะว่า มโนภาพตัวตนสุรินทร์ ที่ว่า “สุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม” นั้นเป็นกับดักความเจริญทำให้ขาดมโนภาพจริงๆในการพัฒนา งบประมาณเยอะมากของรัฐ ถูกเอาไปละเลง ละลายปีแล้วปีเล่า กับเรื่องผ้าไหม กับงานช้างๆ กับทุกสิ่งทุกอย่าง กับภาพลักษณ์กลวงๆ มาหลายปี จนเป็นคำถามว่า สุรินทร์ คือจังหวัดของใคร ?

เพราะสุรินทร์ที่ผมเห็น หลายคนทำเห็ดอร่อย ทำเนื้อโคขุนคุณภาพ ทำขนมปังเลิศ ทำแยมเยี่ยม ทำไวน์ชั้นยอด ทำข้าวผกาอำปึล ที่หนึ่ง ทำสมุนไพรแปรรูปสารพัด ทำงานศิลปะเอกอุ ทำผ้ามัดย้อมส่งออก มีตลาดเกษตรอินดี้ มีผลิตภัณฑ์อินทรีย์ลำหน้า มีศิลปินนานาแขนง มีวัฒนธรรมรื่นเริงสนุกสนาน ต้อนรับชาวโลก!!!

การมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง กลุ่มชาวบ้านบางกลุ่ม ที่เป็นสัญลักษณ์จังหวัด กับชนชั้นนำและชนชั้นปกครองจังหวัด ที่เกื้อกูล สนับสนุน ทุ่มทุน มายาวนาน แบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำนั้น ก่อให้เกิดคำถาม ว่า มโนภาพสุรินทร์ นั้นเป็นมโนภาพของใคร ? บ้านเลี้ยงช้าง บ้านทำปะคำ บ้านทำผักกาด บ้านทอผ้าไหม ทั้งจังหวัดมี 4 หมู่บ้านเท่านั้น ตลอด 30-40 ปี ทำให้ผมนึกไปว่า พนมดงรัก ไม่อยู่ในแผนที่จังหวัดสุรินทร์ หรือบางที หลายๆอำเภอ หลายๆหมู่บ้าน ก็ไม่อยู่ในแผนที่จังหวัดสุรินทร์

ภาพโดย อาทิตย์ เทอดสุวรรณ

การกระจายโอกาส ทรัพยากร ทุน ผ่านนโยบายทุกภาคส่วน ทุกระดับชั้น ไปให้ทั่วถึงทุกทุกอาชีพ ทุกหมู่บ้าน ตำบล เป็นสิ่งที่ต้องเร่งรีบทำ การสร้างวัฒนธรรม ความชื่นชม และส่งแรงสนับสนุนจริงจัง ผ่านหน่วยงานราชการ ต้องลงมือทันที ไม่เช่นนั้น สุรินทร์อีก 100 ปีก็ยัง จมปลักอยู่ในมโนภาพโลกเก่า ไปอีกนานตราบนาน….

ผมแอบคิดและนึกขำๆ ทุกวี่วันว่า ทำไมนะ คนสุรินทร์ถึงไม่เล็งเห็นว่า การต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วยไวน์พื้นเมือง De Simone รสชาติพรีเมี่ยม กับสเต็กโคขุน หรือเสริ์ฟด้วย ขนมปังโฮมเมดทาด้วยแยมมัลเบอรี่ เมล่อนอินทรีย์ และน้ำกระเจี๊ยบ หวานๆ เอกเขนกฟังกันตรึมสกา ของดีเมืองสุรินทร์ ทั้งนั้นเลย….ทำไมไม่พากันทำ ให้เป็นหน้าตา?

ผมว่า เราคงต้องมานั่งมโนภาพโลกใหม่ ให้สุรินทร์กันซะที..!!!

เล่าเรื่องโดย อัฎธิชัย ศิริเทศ