“สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)” เสนอแก้ปัญหาวิกฤติขาดแคลนน้ำในหลายจังหวัดระยะสั้น โดยการใช้รถขนน้ำแจกจ่ายให้ประชาชนผู้เดือดร้อน ซึ่งหนึ่งนั้นมีจังหวัดสุรินทร์รวมอยู่ด้วย แผนระยะยาว สทนช.ทุ่มงบกว่า 1,200 ล้านขุดลอกอ่างเก็บน้ำ เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รายงานหลังมีการประชุม คณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2562 ว่า

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุม คณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2562 ว่า หลายๆพื้นที่ของประเทศไทย ยังมีภาวะเสี่ยงประสบภัยแล้ง จึงสั่งการให้ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซักซ้อมแผนปฏิบัติการของหน่วยงานรับผิดชอบเป็นรายพื้นที่ ทั้งพื้นที่ที่ประกาศภัยแล้งแล้ว 5 จังหวัด 13 อำเภอ 39 ตำบล 287 หมู่บ้าน ประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา ตราดและชลบุรี และยังมีพื้นที่เสี่ยงแล้ง หรือขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะเพื่อการอุปโภคเป็นเป้าหมายแรก

“สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้วิเคราะห์จากข้อมูลน้ำฝน ในเดือน พ.ค.-ก.ค.นี้ ร่วมกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำผิวดินต่างๆ คาดว่า จะมีพื้นที่เสี่ยงขาด แคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค จำนวน 12 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร กำแพงเพชร ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ปทุมธานี อยุธยา ชัยนาท อ่างทอง และภาคตะวันตก 1 จังหวัดได้แก่ เพชรบุรี ซึ่ง สทนช. ได้จัดทำข้อมูลและแผนที่แสดงแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียง พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ให้หน่วยงานต่างๆใช้เป็นข้อมูล เพื่อใช้วางแผนแก้ไขพื้นที่ขาดแคลนน้ำด้วย”
สำหรับแผนการแก้ไขระยะสั้น จะใช้งบประมาณของหน่วยงานในพื้นที่ ไปจัดหาน้ำแจกจ่ายในพื้นที่ประสบภัย โดยใช้รถบรรทุกน้ำ แจกจ่ายน้ำดื่ม จัดซื้อภาชนะบรรจุสำรองน้ำ ซ่อมแซมขุดบ่อบาดาล ซ่อมแซมถังเก็บน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ก่อสร้างและซ่อมแซมระบบกระจายน้ำ ส่วนแผนระยะกลาง เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการเพิ่มความจุ แหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำอื่นๆ รวมโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการ มีจำนวน 144 โครงการ งบประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อเพิ่มแหล่งเก็บกักได้ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ที่ประชุมยังเตรียมการบริหารจัดการน้ำ ในฤดูฝน ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-31 ต.ค.นี้ โดยกำหนดมาตรการเป็นรายพื้นที่ ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ซึ่งจะบริหารจัดการน้ำ ในเขื่อนและแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ เพื่อเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ในแหล่งเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย เพื่อให้มีน้ำตั้งแต่ปีนี้ ไปจนถึงปีหน้า.