
42 ปี หลังจากก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้งาน เป็น42ที่ไม่มีการขุดลอกและบำรุงรักษา ทั้งการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและแก้ปัญหาอุทกภัยจึงใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ แถมปัจจุบันซึ่งน้ำในห้วยเสนง อ่างอำปึล กลับถูกนำมาใช้เป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปา จึงยิ่งประสบปัญหาหนักเข้าไปอีก
ข้อมูลจากการประปาสุรินทร์ช่วงมีนาคม 62 ที่ผ่านมา
จำนวนผู้ใช้น้ำทั้งหมด 33,250 ราย
กำลังผลิตที่ใช้งาน 45,900 ลบ.ม./วัน
ปริมาณน้ำผลิต 936,933 ลบ.ม./เดือน
ปริมาณน้ำผลิตจ่าย 927,182 ลบ.ม./เดือน
ปริมาณน้ำจำหน่าย 811,693 ลบ.ม./เดือน
รัศมีการจำหน่าย การให้บริการน้ำประปา สุรินทร์ปัจจุบัน อยู่ที่ 10ตารางกิโลเมตรจาดเขตเทศบาลเมือง ทุกทิศ
เขื่อนห้วยเสนง เป็นเขื่อนดิน อยู่ในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ และอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 7 กิโลเมตร
เขื่อนห้วยเสนงสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2520 ปิดกั้นห้วยเสนงและลำน้ำอำปึลที่บ้านโคกจ๊ะ-บ้านถนน-บ้านเฉนียง ที่รับน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำอำปึลเป็นอ่างแฝดทางด้านเหนือเขื่อนซึ่งเป็นฝ่ายส่งน้ำและบำรุง รักษาที่ 1 ชลประทานสุรินทร์ จึงได้ขุดร่องเชื่อมระหว่างอ่างทั้งสอง สร้างขึ้นเพื่อบรรเทาอุทกภัยและเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ หาใช่เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อใช้เป็นที่ผลิตน้ำประปาให้ตัวเมืองสุรินทร์ไม่ เพราะก่อนหน้านั้นสมัยที่โอนจากความดูแลของเทศบาลเมืองสุรินทร์ไปเป็นของการประปาส่วนภูมิภาค แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาอยู่ที่สระวัดพรหมซึ่งคือคูเมืองกำแพงเมืองในอดีต( สุรินทร์เป็นเมืองโบราณ มีชื่อเรียกว่า คูประทาย หรือ ไผทสมัน มีกำแพงและคูล้อมชั้นใน เป็นรูปวงกลม วัดผ่าศูนย์กลางจากตะวันออกสู่ตะวันตกประมาณ 22 เส้นจากทิศเหนือจดใต้ประมาณ 26 เส้น มีกำแพงและคูชั้นนอกอีกชั้นหนึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมวงรี ๆ รวมเป็นกำแพง 2 ชั้น ภูมิประเทศภายในเขตกำแพงชั้นในส่วนมากเป็นที่ลุ่ม บางแห่งมีน้ำขังอยู่ตลอดฤดูหนาว

หลักฐานจากบันทึกการเดินทางเรื่อง Voyage dans le Laos (Volume 2) โดย – Aymonier, E. (Etienne), b. 1844 เปิดเผยว่า เมืองสุรินทร์มีระบบผังเมืองที่ดี มีกำแพงเมืองล้อมรอบถึงสองชั้น กำแพงเมืองชั้นในจะเรียกว่า “เมืองชั้นใน” ส่วนกำแพงเมืองชั้นนอกจะเรียกว่า “เมืองชั้นนอก” ลักษณะชุมชนเป็น ชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น
แอมอนิแยร์ ได้ วาดรูปภาพแนวกำแพงเมืองสุรินทร์เอาไว้ในหนังสือ บันทึกการสำรวจของเขา นับเป็นแผนที่ฉบับแรกของเมืองสุรินทร์

ในเอกสารของ แอมอนิแยร์ กล่าวว่า กำแพงเมืองชั้นในมีความกว้างจากเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1,000 เมตร ยาว 1,300 เมตร ส่วนกำแพงเมืองชั้นนอก กว้าง 1,500 เมตร ยาว 2,500 เมตร ถนนที่ตัดผ่าน ศูนย์กีฬาและเยาวชนจังหวัด ตรงที่ตั้ง ไนท์บาซ่า, สนง.เทศบาลเมืองสุรินทร์ คือ กำแพงเมืองชั้นใน มีถนนตัดผ่านชื่อว่า “ถนนกรุงศรีใน” ส่วน ถนนเลียบกำแพงเมืองชั้นในฝั่งทิศใต้ เรียกว่า “ถนนกรุงศรีนอก” บริเวณแยก ถนนธนสาร ตัดกับ ถนนกรุงศรีใน 4 แยกตลาดสดเทศบาลเมือง เดิมเรียกว่า “สี่แยกเชียงใหม่” ศูนย์กลางของเมืองตั้งอยู่บริเวณหลักเมือง ใกล้กับ จวนผู้ว่า (ตั้งอยู่ในศาลากลาง) อดีตเคยเป็นที่ตั้งของ “จวนเจ้าเมืองพื้นถิ่น”) ซึ่งหากดูจากภาพจักเห็นความชาญฉลาดของบรรพชนชาวสุรินทร์ที่สร้างคูเมืองกำแพงเมืองไว้อย่างมั่นคงแข็งแรง ป้องกันอริราชศัตรู เป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ดื่มกิน ใช้ เป็นการบริหารจัดการน้ำที่ดีไม่มีอดอยากทั้งเพื่ออุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร เป็นคูเมืองกำแพงเมืองที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และผังเมืองดังกล่าวดูเหมือนจำลองมาจาก เมืองนคร(นครวัดนครธมสมัยอาณาจักรขอม)
ภาพวาดของ แอมอนิแยร์ 1
ลักษณะทั่วไป
เขื่อนห้วยเสนงมีความสูงจากท้องน้ำ 20 เมตร สันเขื่อนยาว 4.4 กิโลเมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ 20.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบัน เขื่อนห้วยเสนงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ของชาวสุรินทร์มาเป็นเวลานาน ได้ชื่อว่าทะเลสุรินทร์ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสวรรค์ชายหาดของคนชาวสุรินทร์ นอกจากนี้บนสันเขื่อนมีสันที่กว้างออกคล้ายแหลมไปซึ่งเป็นที่ตั้งของพระตำหนักประทับแรมของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีหรือ เรือนรับรองที่ประทับ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง เมื่อครั้งเสด็จประพาส ให้นักท่องเที่ยวได้ชม ซึ่งมีเขตพระราชฐานอยู่ด้านใน และมีจุดชมวิวให้ชมอีกด้วย และยังเป็นที่ประทับรับรองพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ครั้นยังทรงพระชนม์) ในยามที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดอีสานใต้
การเดินทาง
อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางถนนสายสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข 214) ประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 5-6 แยกซ้ายมือไปทางถนนริมคลองชลประทาน มีป้ายชื่อว่า โครงการชลประทานสุรินทร์ สำนักชลประทานที่ ๘ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร

ต่อมาเมื่อประมาณกว่า50ปี เมื่อเทศบาลเมืองสุรินทร์ ยกการประปาสุรินทร์ให้ไปอยู่ในการกำกับดูแลของ การประปาส่วนภูมิภาค จากเดิมเคยใช้น้ำดิบจากวัดพรหมสุรินทร์ต่อมา ได้มีการใช้น้ำดิบจาก โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง อ่างอำปึล จากสภาพชุมชนเมืองที่ขยายตัวอย่างมาก ในรัศมี10ตารางกิโลเมตรจากเขตเทศบาล การใช้น้ำประปา จึงขยายออกไปด้วย แต่แหล่งน้ำดิบยังคงมีเท่าเดิม ตลอดระยะเวลา40กว่าปี ไม่เคยขุดลอก ขยายหรือหาแหล่งน้ำเพิ่มเพื่อกาลอนาคต จากสภาพที่เราเห็นห้วยเสนง ณ วันนี้ หากฝนไม่ตก ไม่น่าจะเกินสองเดือนเราจะเกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำ ขาดน้ำอุปโภคบริโภคประจำวัน การที่การประปาเตือนชาวบ้านให้ประหยัดน้ำ จึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่ไม่สนใจระยะยาว ในระยะยาวอีกอย่างน้อยยี่สิบปี สามสิบปี หรือมากกว่านั้น เราควรมีแหล่งน้ำรองรับความต้องการของชุมชน อย่างน้อยก็ต้องมีสี่มุมเมืองหรือมากกว่านั้น เป็นเรื่องที่จังหวัด ผู้นำท้องถิ่น การประปาต้องนั่งจับเข่าคุยกัน วางผังเมืองเพื่อสร้างแหล่งน้ำให้ชุมชน อย่าให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานก่นด่าเราในวันนั้นซึ่งเป็นบรรพชนของเขาว่า พวกไม่ได้ความ
ทีมงานสื่อสร้างสรรค์ ขอเชิญทุกท่านร่วมแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาคมผู้ซื้อน้ำจากการประปาสุรินทร์